กลุ่มไทยฮั้วฯเล็งขึ้นเฟส2นิคมยาง จีนแห่ลงทุนตั้งรง.ผลิตล้อรถยนต์-ย้ำวัตถุดิบเพียบ

Detail: 

กลุ่มไทยฮั้วยางพาราเล็งขึ้นเฟส 2 นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางที่ระยอง พร้อมตั้งนิคมอุตสาหกรรมรับโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่เมืองกาญจน์7,000 ไร่ หากโครงการท่าเรือทวายเชื่อมแหลมฉบังชัดเจน

ดร.หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทร เบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในเครือบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง อ.เมือง จ.ระยอง เปิดเผยว่าบริษัทได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางต้นแบบแห่งนี้ที่มีพื้นที่ 2,300 ไร่ไปแล้ว 30-40% หลังจากที่มีการเซ็นสัญญาขายที่ดินให้บริษัท เซ็นจูรี่ ไทร์ จำกัดจากจีน 138 ไร่ ตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ปีละ 10 ล้านเส้น คาดว่าไทร เบคก้าฯจะลงทุนพัฒนาที่ดินโครงการทั้งหมดให้เสร็จภายในปีหน้าโดยไม่รวมูลค่าที่ดินประมาณ 3,000 ล้านบาท 

ขณะนี้มีนักลงทุนจะมาตั้งโรงงานผลิตยางแปรรูปเพิ่มอีก 3-4 ราย จากทั้งหมดที่รับได้ประมาณ 7-8 ราย โดยเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ จะมีกลุ่มนักลงทุนจีนมาเจรจาตั้งโรงงานเดือนละ 5-6 บริษัท ทั้งนี้ ทางนิคมอุตสาหกรรมจะมีศูนย์วิจัยพัฒนายางและผลิตภัณฑ์ มีมหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะ โรงพยาบาล รองรับนิคมที่จะจ้างงานพนักงานประมาณ 1 หมื่นคน 

หากปีหน้ายอดขายพื้นที่นิคมเพิ่มเป็น 60-70% บริษัทก็จะขยายพื้นที่เฟส 2 เพิ่ม ซึ่งจะมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางรวมทั้งหมด 5,000-6,000 ไร่ พร้อมกับยื่นขอรับการส่งเสริมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การขยายพื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบรองรับ เนื่องจากกลุ่มไทยฮั้วยางพารามี 5 โรงงาน ทั้งโรงงานยางแท่ง โรงงานน้ำยางข้นและยางแผ่นในภาคตะวันออกรวมกำลังการผลิต 5 แสนตันและโรงงานยางแท่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 5-6 แสนตันรองรับ ในขณะที่โรงงานในเฟส 1 จะใช้ยางเป็นวัตถุดิบประมาณ 2 แสนตัน

"จีนเขาเจอปัญหาหลายประเทศเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดผลิตภัณฑ์ยาง รัฐวิสาหกิจที่แตกตัวเป็นบริษัทเอกชน จึงต้องหาทางออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมีรัฐบาลและธนาคารสนับสนุนสินเชื่อไปลงทุนเต็มที่ ไทยซึ่งมีวัตถุดิบมากและจะเป็นตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปีหน้า จีนจึงสนใจมาลงทุนเพราะมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน ปัจจุบันจีนเก็บภาษีนำเข้ายางรถยนต์ 0% ในขณะที่เก็บภาษียางแผ่น 20% และน้ำยางข้น 10% จึงไม่มีปัญหาหากจะส่งยางรถยนต์เข้าไปจำหน่ายในจีน"

ล่าสุดบริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับบริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง 2 โรง โรงละ 120 เมกะวัตต์ มูลค่าโรงละประมาณ 5,000 ล้านบาท จ่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโรงละประมาณ 90 เมกะวัตต์ ที่เหลือใช้ในนิคมอุตสาหกรรมยาง และผลิตไอน้ำป้อนโรงงานยาง 30 ตัน/ชม.ซึ่งจะต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการต่อท่อก๊าซจากบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มาที่นิคมระยะทางประมาณ 20 กม.ก่อน นอกจากนี้ บริษัทยังเซ็น MOU กับบริษัท จีอาร์อี คอมโพสิท จำกัด ในโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาและระบบน้ำเสียในนิคม มูลค่าประมาณ 300-400 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าคอนเซ็ปต์นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งจะมีการปลูกต้นไม้จำนวนมาก

ดร.หลักชัยกล่าวต่อว่า ในอนาคตหากรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ตกลงกันได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทยได้ บริษัทจะลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับโรงงานที่จะใช้แรงงานเข้มข้นหรือใช้แรงงานมากที่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี เฟส 1 จำนวน 7,000 ไร่ และพร้อมจะเพิ่มพื้นที่นิคมได้ถึง 20,000-30,000 ไร่ ซึ่งหากมีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่าเมืองหรือมอเตอร์เวย์บางใหญ่-บ้านโป่ง นิคมแห่งนี้ก็อยู่ไม่ไกล ห่างประมาณ 30 กม.เท่านั้น 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1412050063

 

Update date: 
08/10/2014